ไทยคาดว่าราคายางจะสูงขึ้นในปี 2017


กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์ The Bangkok Post รายงานว่า ผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมมีความหวังว่า ราคายางจะเริ่มขยับตัวสูงขึ้นในปีนี้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจากการที่อุปสงค์จะมีมากกว่าอุปทาน ทั้งนี้ ราคายางมีความผันผวนตั้งแต่ราคาตกฮวบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 ถึงแม้คาดว่าอุปสงค์จะยังคงซบเซาในปีนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง แต่จากอุทกภัยเมื่อเร็วๆ นี้ในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางที่สำคัญของไทย และจากมาตรการของประเทศผู้ผลิตยางสำคัญๆ ที่จะลดการผลิตยาง คาดว่าจะทำให้ราคายางสูงขึ้น

นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของยางคาดว่าจะดีขึ้นในปี 2017 ท่ามกลางการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยได้รับแรงกระตุ้นจากตลาดที่เกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2017 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งความเสี่ยงส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ยางร้อยละ 70 ของการผลิตยางทั้งหมด และเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาง คาดว่าจะมีการเติบโตคงที่ในปี 2017 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า การผลิตรถยนต์ในปีนี้จะบรรลุเป้าหมาย 2 ล้านคัน การส่งออกรถยนต์ก็คาดว่าจะคงที่ในปีนี้เช่นกัน ที่ 1.22 ล้านคัน เทียบกับ 1.20 ล้านคันที่คาดว่าจะส่งออกในปี 2016

อุปทานมีอยู่อย่างจำกัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการที่ประเทศผู้ผลิตยางหลักๆ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ลดการผลิตประจำปีลงอย่างมาก เพื่อให้ราคายางสูงขึ้น อุปทานจะมีอยู่อย่างจำกัดต่อไปจากสภาวะอากาศที่ไม่อำนวย ฝนตกหนักและน้ำท่วมในภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตยางร้อยละ 80 ของประเทศ หรือผลผลิตยาง 4.5 ล้านเมตริกตันต่อปี ทำให้มีผลกระทบต่อการกรีดและการตัดยาง ทั้งนี้ ยังไม่มีสถิติที่ชัดเจนว่าอุปทานยางจะลดลงเท่าใดจากอุทกภัยดังกล่าว แต่ผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ของสมาคมยางพาราไทยคาดว่า ร้อยละ 5 ของผลผลิตทั้งหมดจะหายไปจากตลาด กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะยังคงตกหนักไปอีกประมาณสองสัปดาห์ และจะลดลงในช่วงปลายเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ฤดูมรสุมที่จะหมดลงในช่วงปลายเดือนมกราคมก็จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่เริ่มฤดูแล้ง เมื่อต้นยางผลัดใบและหยุดให้น้ำยาง ฤดูแล้งโดยปกติเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์และต่อไปจนกลางเดือนเมษายน เมื่อผลผลิตยางอาจลดลงประมาณ 150,000 เมตริกตันต่อเดือน การลดการผลิตคาดว่าจะทำให้ราคายางสูงขึ้น ซึ่งเริ่มสูงขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2017

ราคายางแผ่นรมควันของโลกลดลงเหลือ 1.10 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลกรัมในปี 2016 หรือลดลงร้อยละ 80 จากราคา 6.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัมซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 ซึ่งเป็นผลของปริมาณมากเกินความต้องการในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาที่ลดลงยังเป็นผลของการชะลอตัวของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคยางที่ใหญ่ที่สุดของโลก ราคาเริ่มสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2016  เมื่อประเทศสมาชิก OPEC และที่ไม่ใช่สมาชิก OPEC ตกลงที่จะลดอุปทานน้ำมันทั่วโลก 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 การลดอุปทานน้ำมันทำให้ราคายางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกของยางธรรมชาติมีราคาสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาน้ำมันโลก และทำให้ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่หันไปใช้ยางธรรมชาติแทน  ราคายางธรรมชาติสูงขึ้นจากราคาต่ำสุดที่ 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัมในช่วงต้นปี 2016 เป็น 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปี และเขยิบขึ้นเป็น 2.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัมปลายปี 2016  นอกจากปัจจัยที่เอื้อดังกล่าวแล้ว อุปทานยางก็คาดว่าจะน้อยกว่าอุปสงค์เป็นเวลาสองสามปี จากมาตรการของผู้ผลิตยางที่สำคัญที่ลดการตัดต้นยางเพื่อทำให้ราคายางสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อุปทานน้อยลงในช่วงเจ็ดปีข้างหน้า เพราะต้นยางต้องใช้เวลาเจ็ดปีเพื่อเติบโตและเริ่มให้น้ำยาง

นายหลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสามผู้ส่งออกยางที่สำคัญของประเทศ และอดีตนายกสมาคมยางพาราไทยกล่าวว่า จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าราคายางโดยเฉลี่ยจะอยู่สูงกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัมทั้งปี 2017 ผู้ค้ากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงสำคัญหลายประการที่อาจขัดขวางไม่ให้ราคายางสูงขึ้นมาก นายหลักชัยกล่าวว่า ความกังวลหลักคือนโยบายเศรษฐกิจของนาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าหรือมาตรการปกป้องทางการค้าใดๆ อาจมีผลกระทบเชิงลบต่อราคายาง

ที่มา: http://www.rubberworld.com/news.asp#25167 วันที่ 12 มกราคม 2017



















12/01/2017