ราคายางปรับขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภค


   ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้
   ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 51.20 เพศหญิง ร้อยละ 48.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 30.60 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 43.70
   ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตร ยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน อีกทั้งเดือนนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกเริ่มเปิดฤดูท่องเที่ยวอย่างคึกคัก
   ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยน้ำยางสดราคา 58 บาทต่อกิโลกรัม (การยางแห่งประเทศไทย, 30 พฤศจิกายน 2559 ) ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 6 บาทต่อกิโลกรัม (กรมการค้าภายใน, 30 พฤศจิกายน 2559)
   รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่เริ่มเปิดฤดูท่องเที่ยวในหลายจังหวัด เช่น ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา เป็นต้น ส่งผลต่อรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากสัญญาณแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของรายได้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการและครัวเรือนดังกล่าว จึงทำให้รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย ยกเว้นรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า
   และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ ปรับตัวลดลง เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้ แม้จะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ก็ฟื้นตัวแบบช้า ๆ และยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ดังนั้นประชาชนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย และเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น
   ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 21.50 และ 26.90 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 26.90 และ 24.90 จากปัจจัยราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ ได้แก่ วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันปีใหม่ และวันตรุษจีน
   ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.20 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 22.60 และ 14.70 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า ตามลำดับ

  (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2559)


















02/12/2016