เร่งศูนย์ทดสอบฯ แห่งชาติรับรถยนต์ไฟฟ้า-อุตฯ 4.0


    ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์อีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่เดินหน้าเพื่อก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายการสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน และยางล้อ ด้วยปัญญาและนวัตกรรม ต่อยอดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย คลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ของอุตสาหกรรม 4.0
    ทั้งนี้ ยังเป็นการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต เพิ่มส่งเสริมการผลิตและการส่งออกยางล้อ ยานยนต์ และชิ้นส่วน และยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการทดสอบของภูมิภาคอาเซียน
    ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2559 เพื่อรับทราบถึงความคืบหน้าโครงการการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยได้เร่งรัดการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 
    ณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดย สมอ. ได้เร่งรัดโครงการดังกล่าวจากช่วงเริ่มต้นโครงการ มีการวางกรอบระยะเวลาการดำเนินงานแล้วเสร็จภายใน 7 ปี และได้มีการปรับปรุงระยะเวลาลดลงเหลือ 5 ปี จนกระทั่งล่าสุดได้มีการปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงเหลือ 3 ปีครึ่ง (2559-2562) เพื่อเดินหน้ารองรับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงเป็นการต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้การผลิตยางล้อด้วยวิธีการผลิตยางชั้นสูง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นการผลิตและการส่งออก
    สิ่งที่จะสามารถเริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาได้ทันทีหลังจากศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวแล้วเสร็จคือ ยางแฟลตไทร์ สำหรับรถยนต์ระดับพรีเมียม ที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการผลิตและพัฒนาดังกล่าวในประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ณัฐพล กล่าว
    นอกจากนั้น งบประมาณการลงทุนในระยะที่ 1 (เฟสแรก) คาดจะใช้งบประมาณรวม 600-800 ล้านบาท จากงบประมาณรวมเฟสแรกและเฟสสอง มูลค่ารวม 3,700 ล้านบาท ส่วนเฟสสามนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของเฟสแรกและเฟสสองเพื่อรายงานต่อสำนักงบประมาณในการอนุมัติงบประมาณ รวมถึงเฟสสามที่จะนำเทคโนโลยีส่วนต่างๆ ที่จะพัฒนาขั้นสูงต่อยอดนำไปไว้ในเฟสดังกล่าว
    ขณะที่กรอบการบริหารงานศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันศูนย์ทดสอบฯ อยู่ภายใต้การบริหารงานของ สมอ. ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพิจารณาให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ และจะมีการใช้ที่ปรึกษาต่างประเทศ เนื่องจากศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดย สมอ.จะมีการจัดทำการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป
    อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยในขณะนี้เปรียบเทียบได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศสเปน ที่ต้องการยกระดับจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ (โปรดักชั่นฮับ) สู่การเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ในภูมิภาคอาเซียนและผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานด้านการวิจัย
    นอกจากนี้ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นประเทศผู้สร้างมาตรฐานสากลเป็นของตัวเอง อาทิ มาตรฐานการทดสอบการชน ไทยแลนด์ เอ็นแค็บ (Thailand Ncap) จากปัจจุบันที่บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่อ้างอิงมาตรฐานความปลอดภัย อาเซียน เอ็นแค็บ (ASEAN NCAP) ขณะที่ระดับโลกยังมีมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงอีกหลายประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับถึงมาตรฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกของไทยมาตรฐานใหม่ในวงกว้าง
    ณัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการทดสอบรถยนต์ด้วยการส่งออกไปทดสอบที่ต่างประเทศมีมูลค่าหลัก 100 ล้านบาท/ปี รวมถึงใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 3-6 เดือน ซึ่งหากมีศูนย์ทดสอบฯ ในประเทศไทยจะส่งผลให้งบประมาณส่วนดังกล่าวของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ ลดลง ดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ
    ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ได้สัมมนาเรื่องการจัดทำแผนหลักโครงการ (Master Plan) ศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อนำเสนอแบบร่างและรับฟังความเห็นก่อนการดำเนินการก่อสร้าง
    อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ จะช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และส่งเสริมการส่งออกให้ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดที่เข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้าได้ อาทิ สหรัฐอเมริกา ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญระดับโลกของรถยนต์
    พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้ร่วมกับบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ ที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินงานได้รวดเร็วกว่าเป้า สมอ.ที่เล็งเห็นว่าศูนย์ทดสอบฯ นี้จะเป็นประโยชน์ในการทดสอบและรับรอง การวิจัยพัฒนานวัตกรรม ศึกษาเรียนรู้ และทดสอบทดลองขับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม สถาบันการศึกษา ด้านยานยนต์
    สำหรับศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 1,235 ไร่ ซึ่งในเฟสแรกและเฟสสองจะมีสนามทดสอบทั้งหมด 6 สนาม อาทิ สนามทดสอบเสียงขณะล้อหมุน สนามทดสอบระบบเบรก เป็นต้น
    ศูนย์ทดสอบฯ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับสู่ฐานการวิจัยและพัฒนาของไทยได้แค่ไหน ต้องติดตาม 

    (ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559)


















16/11/2016