มาตรฐานใหม่ 6 ผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราไทย


    สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ขานรับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรม "ยางพารา" เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ ล่าสุดได้กำหนดมาตรฐาน 6 ผลิตภัณฑ์ คือ ยางรัดของ ยางปูพื้นรถยนต์ ถุงนิ้วยาง ยางชะลอความเร็ว ยางปัดน้ำฝน และยางโอริง โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559
   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางรัดของ ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4455 (พ.ศ. 2555) และออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางรัดของ มาตรฐานเลขที่ มอก.886-2559 ขึ้นใหม่
   สำหรับ "ยางรัดของ" หมายถึง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางธรรมชาติ มีลักษณะเป็นวง ใช้สำหรับรัดของ โดยครอบคลุมเฉพาะยางรัดของที่ใช้งานทั่วไป ไม่รวมยางรัดของที่ใช้สัมผัสอาหาร งานในเชิงวิศวกรรม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชั้นคุณภาพที่ 1 มีมอดุลัสต่ำ (ความยืดหยุ่น) ชั้น 2 มีมอดุลัสปานกลาง และชั้น 3 มีมอดุลัสสูง
   ยางปูพื้นรถยนต์" ได้ปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางปูพื้นรถยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก.947-2533 เป็นมาตรฐานเลขที่ มอก.947-2559 ทั้งนี้เฉพาะยางปูพื้นรถยนต์ที่ทำมาจากยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ยางรีไซเคิล หรือยางผสมของวัสดุทั้ง 2 ชนิด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ คือ เอ บี และซี รวมถึงได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม "ถุงนิ้วยาง" โดยออกประกาศมาตรฐานเลขที่ มอก.2725-2559 ซึ่งมีรายละเอียดว่า มาตรฐานนี้จะครอบคลุมเฉพาะถุงนิ้วยางที่ใช้งานทั่วไป แต่ไม่ครอบคลุมถุงนิ้วยางที่ใช้สำหรับด้านไฟฟ้า คลีนรูม และอาหาร โดยสามารถแยกถุงนิ้วยางออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด ก ถุงนิ้วยางที่ทำจากยางธรรมชาติ ชนิด ข ถุงนิ้วยางที่ทำจากยางสังเคราะห์ และสามารถแยกออกเป็น 4 ขนาด คือ เล็ก 22 มิลลิเมตร (มม.) กลาง 26 มม. ใหญ่ 30 มม. และใหญ่พิเศษ 34 มม. 
   ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม "ยางชะลอความเร็ว" โดยออกประกาศมาตรฐานหมายเลขที่ มอก.2726-2559 ซึ่งมาตรฐานนี้ครอบคลุมเฉพาะยางที่ชะลอความเร็วที่ทำจากยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ยางรีไซเคิล หรือยางผสมของวัสดุ 2 ชนิด อาจมีวัสดุอื่นประกอบเพื่อให้เห็นได้ชัด แต่ไม่รวมยางชะลอความเร็วที่ทำจากพลาสติก หรือการออกแบบและติดตั้ง
   ทั้งนี้ ให้ความหมายของยางชะลอความเร็ว (rubber speed humps) ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ยางรีไซเคิล หรือยางผสมของวัสดุ 2 ชนิด มีลักษณะเป็นยางตัน เป็นชั้นเดียวหรือ 2 ชั้นก็ได้ ใช้ติดตั้งเพื่อชะลอความเร็วของยานยนต์ มีสีที่มองเห็นชัดเจนระยะไกลเวลากลางคืน โดยทั่วไปจะเป็นสีดำและเหลือง กว้างประมาณ 30 ซม. สูง 50-120 มม.
   ส่วน "ยางปัดน้ำฝน" มีการออกประกาศมาตรฐานหมายเลขที่ มอก.2727-2559 โดยครอบคลุมเฉพาะยางปัดน้ำฝนสำหรับกระจกรถยนต์ที่ทำจากยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ หรือยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ แต่ไม่รวมยางรีไซเคิล ซึ่งลักษณะทั่วไปจะต้องเรียบ ไม่มีรอยแตกหรือมีสิ่งแปลกปลอมเจือปน
   อีกทั้งได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม "ยางโอริง" มาตรฐานเลขที่ มอก.2728-2559 โดยระบุว่า ครอบคลุมยางโอริงที่ทำจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ หรือยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ ที่สำคัญต้องมีความแข็งระบุที่ 70 IRHD เท่านั้น
   โดยสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 3 ประเภท ได้แก่ งานที่สัมผัสกับน้ำ น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีลักษณะพื้นผิวออกเป็น 3 เกรด คือ เกรด N (general purpose) คือ ยางโอริงสำหรับงานทั่วไป เช่น สุขภัณฑ์ เกรด S (special) คือ ยางโอริงสำหรับงานที่ต้องการความปลอดภัยพิเศษ เช่น ระบบส่งกำลังสำหรับรถยนต์ และเกรด CS (critical service) คือ ยางโอริงสำหรับงานที่ต้องการความปลอดภัยสูงเป็นพิเศษ เช่น ระบบเบรกสำหรับรถยนต์ 
   อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้ง 6 มาตรฐานที่ได้ออกประกาศเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษานั้น วัสดุหรือภาชนะที่ห่อหุ้มจะต้องมีฉลากระบุชื่อผลิตภัณฑ์ ประเภท ขนาด เดือน ปี หรือรหัสที่ผลิต รวมถึงจะต้องแสดงชื่อผู้ผลิต โรงงาน เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน และที่สำคัญจะต้องแสดงคำแนะนำในการใช้อย่างชัดเจนด้วย

   (ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่  13 ตุลาคม 2559)


















13/10/2016