อุตฯ เร่งมาตรฐานยางพารา


   นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า จากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกยางยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 21.4% ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเลิกปลูกยางพาราหันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เกิดการชะลอการทำสวนยางของเกษตรกรรายใหม่เนื่องจากต้นทุนการผลิตยางที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบประกอบ เช่น ปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกยางพาราอยู่ประมาณ 22 ล้านไร่ จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ การรับซื้อยางในราคาสูงกว่าท้องตลาด การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ เปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างกลไกผลักดันราคายางในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น มุ่งเน้นนวัตกรรมการนำยางพารามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรม และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ทำจากยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีการนำยางพารามาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยางพาราที่เกษตรกรผลิตขึ้นมีการซื้อขายทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าราคายางในประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราให้มากยิ่งขึ้น

  (ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันที่ 22 กันยายน 2559) 


















23/09/2016