อุตฯ ยานยนต์ประสานเสียง เบรกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ชี้เสียมากกว่าได้


   จากกระแสการเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาท ของเหล่าแรงงานในประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
  ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในอีกมุมมองหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์และเหตุผลในเวลานี้ ที่ยังไม่ควรจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่สู้ดีนัก
   แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์ เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความอ่อนไหวในภาคการผลิตไม่น้อย เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นต้นทุนด้านการผลิตที่นักลงทุนทั้งหลายนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถือได้ว่ามีความได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องด้วยฝีมือแรงงานและอัตราค่าแรงที่เป็นจุดแข็งและจุดขายสำคัญที่ทำให้นักลงทุนในทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย
   เช่นนั้นแล้วประเทศไทยจะยอมทิ้งปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปหรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ ด้วยประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหว จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเงินทุนในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ง่าย ประกอบกับปัจจัยการแข่งขันด้านการดึงดูดนักลงทุนของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น
   ประเทศที่น่าจับตามองด้านการแข่งขันการดึงดูดนักลงทุนคือ ประเทศมาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ด้วยการเดินหน้าเปิดประเทศรับนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ตามนโยบายการเร่งพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในภูมิภาค
   นอกจากนั้น การเรียกร้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 360 บาท/วัน นั้นเป็นสิ่งที่มีการเรียกร้องมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่าในฐานะผู้ผลิตได้มีการพูดคุยกับสหภาพแรงงานภายในบริษัทอย่างตลอดเวลา เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่มีความอ่อนไหวในระดับการทำงานเช่นกัน
   อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 สามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยความกังวลแฝงระหว่างทางในด้านอุบัติเหตุทางการเมืองหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจจะต้องนับว่าเป็นจุดที่ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะมีความชัดเจนของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น รวมถึงผลลัพธ์หลังการเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่ง ณ เวลานี้ทิศทางที่หลายฝ่ายระบุถึงความชัดเจนเป็นเพียงแค่สัญญาณในการนำมาวิเคราะห์ตามสถานการณ์ต่อไปเท่านั้น
   ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า สำหรับอีกปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนคือ การกำหนดนโยบายด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่ชัดเจน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนนับตั้งแต่การสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) ซึ่งต่อมาได้มีการสนับสนุนด้านอื่นทดแทนคือ แก๊สโซฮอล์ อี85 และได้ปรับเปลี่ยนไปสู่แก๊สโซฮอล์ อี20 และต่อไปคือรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้แผนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ในประเทศไทยของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ ชะลอตัวรอความชัดเจน
   ขณะที่เงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีการยกเว้นภาษีนำเข้า-ส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาการลงทุน หรือการกำหนดการผลิต เพื่อการส่งออกในแต่ละประเทศ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้านการผลิตต่อบริษัท ซึ่งจุดนี้เองเป็นข้อเสียเปรียบของประเทศไทย หากประเทศคู่แข่งมีข้อตกลงในลักษณะเดียวกัน แต่มีค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย
   ปัจจัยบวกของประเทศไทยคือ ศักยภาพด้านฝีมือแรงงานที่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญต่อการผลิตสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการผลิต รวมถึงข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของประเทศที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค และมีเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลที่ครบถ้วน อีกทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่และพฤติกรรมตลาดที่มีศักยภาพ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นรวมถึงความครบถ้วนด้านชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (ซัพพลายเชน) ที่ครบถ้วน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
   ส่วนปัจจัยด้านการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานถือเป็นปัจจัยที่เหล่าผู้ใช้แรงงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้น้ำหนัก เนื่องจากความกังวลด้านอัตราว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องจักรต่อแรงงาน ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวได้ให้ความเห็นว่า อัตราการเพิ่มเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ไม่ใช่การนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานทั้งหมด 100% แต่เป็นการนำเครื่องจักรเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตและด้านสุขภาพของแรงงานในบางขั้นตอนการผลิตเท่านั้น
   ทั้งนี้ เนื่องจากในด้านความต้องการแรงงานในภาคการผลิตในชิ้นส่วนสำคัญบางอย่างยังคงต้องพึ่งพาฝีมือแรงงานเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการที่แรงงานในประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านการผลิตและฝีมือการผลิตสูงจะต้องรักษาและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ยกระดับแรงงานตามความต้องการของการผลิต
   ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบทางด้านต่างๆ ในเวลานี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ก็คงจะชะล่าใจไม่ได้ในการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกในการนำเสนอให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็ตาม เพราะในเวลานี้สถานการณ์การแข่งขันด้านการดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีความรุนแรงสูงเหลือเกิน จึงยังไม่ควรที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเวลานี้ เพื่อรักษาระดับความมั่นคงด้านการลงทุนให้มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องไปก่อน

(ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันที่ 21 กันยายน 2559)


















21/09/2016