“ดร.ธีธัช สุขสะอาด” เร่งขับเคลื่อนปัญหายางทั้งระบบ


  ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ส่งเสริมการผลิตยางพารา พื้นที่ภาคอีสาน เข้าสู่ตลาดอินโดจีน นำสื่อ ลงพื้นที่ ชมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง “บุรีรัมย์” แปรรูปผลิตจากยาง พลิกวิกฤติราคายาง เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้            
   ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและผลิตยางพารา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่มีศักยภาพด้านการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราหลากหลายรูปแบบ ตามนโยบายการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งเสริมและสนับสนุนด้านยางพาราอย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถตอบสนองกับนโยบายภาครัฐบาลในการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง และมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่ประตูการค้ายางพาราของตลาดอินโดจีน หรือ CLMV ในกลุ่ม Asean ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางการค้า โดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยางพาราที่มีศักยภาพของภูมิภาค Asean
   อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้ “ยางพารา” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราดีขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำยางพาราปริมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณ 236,370 ไร่ สามารถให้ปริมาณผลผลิตน้ำยางประมาณ 48,974 ตัน ถือเป็นปริมาณผลผลิตน้ำยางพาราที่สูงมากกว่าพื้นที่ปลูกยางพาราจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจรได้เล็งเห็นศักยภาพด้านการผลิตน้ำยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้านยางพาราในรูปแบบต่างๆ อาทิ การรับซื้อน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย การแปรรูปผลผลิตน้ำยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นยางแผ่นรมควัน ยางเครพ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นหมอนยางพารา ให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 104 กลุ่ม มีสมาชิกรวมทั้งหมด 5,944 ราย มีพื้นที่ปลูกยาง รวม 145,532 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 61.5 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งจังหวัด
   โดยเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.สหกรณ์คูเมือง จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปละหานทราย ลำจังหัน จำกัด 3.สหกรณ์กองทุน สวนยางละหานทรายจำกัด 4.สหกรณ์กองทุนสวนยางนิคมบ้านกรวด จำกัด 5.สหกรณ์การเกษตร สตึก จำกัด 6.สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด 7.สหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด และ 8.สหกรณ์กองทุนสวนยางแคนดง จำกัด การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพันธกิจในบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจรให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดกับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเกิดการบริหารกิจการยางพาราอย่างครบวงจรและเป็นระบบ โดยส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีศักยภาพด้านการบริหารกิจการยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยได้ดำเนินตามนโยบายด้านการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรจนประสบความสำเร็จหลายกลุ่ม
    นายธีธัช กล่าวด้วยว่า หลักของชาวสวนยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ยังไม่มีการแปรรูปยาง ส่วนใหญ่จะขายน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย จึงถูกกดราคามาตลอด ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรยางพารา เพื่อรับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของยางพาราและเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากสถานการณ์ราคายางพาราผันผวน ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดประเทศจีน มีความต้องการยางเครพมากขึ้น แต่ยังมีผู้ผลิตน้อยราย เพราะวิธีการผลิตยางเครพแบบแผ่นบาง จะต้องมีองค์ความรู้และลงทุนซื้อเครื่องจักร ทางการยางแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นช่องทางการสร้างมูลค่าเพิ่มของเกษตรกรและจะหาแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมรูปแบบการผลิตของเกษตรกรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
    ด้านนายสมปอง ชำนิจ ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด อยู่ในการควบคุมของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสหกรณ์แห่งเดียวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รวบรวมน้ำยางดิบมาทำแผ่นรมควัน และจัดหาตลาดจำหน่ายอย่างครบวงจร ถือเป็นการยกระดับคุณภาพการผลิตยางพาราให้ได้มาตรฐาน และสามารถสร้างอำนาจต่อรองในตลาดยางพารากับบริษัทผู้รับซื้อโดยตรง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปันผลเฉลี่ยคืนหลังจากขายน้ำยางสด ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นยางแผ่นแล้ว โดยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาตลาดกลางรับซื้อน้ำยางสดโดยตรงเฉลี่ย กิโลกรัมละ 4-5 บาท ที่สำคัญเกษตรกรไม่ต้องเสียเวลา ลดต้นทุนแรงงานผลิตยางแผ่น
     การยางแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการยางพาราอย่างเป็นระบบให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนสถาบันเกษตรกรกับการยางแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนการสร้างโรงอบและรมยาง จนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
 
    (ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันที่ 19 กันยายน 2559)


















19/09/2016