โรงงาน "วู้ดเพลเลต" สุราษฎร์ โอดส่งออก ราคาดิ่ง-ญี่ปุ่นเข้มมาตรฐาน FSC


   "เพียว เอ็นเนอร์ยี่กรุ๊ป" เมืองสุราษฎร์ บิ๊กส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลป้อนโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ดิ้นหนีภาวะขาดทุน เหตุราคาตกต่ำตามน้ำมันโลก-สะดุดเงื่อนไข FSC ต้องรับรองแหล่งที่มาของไม้ ไม่รุกป่าทำลายสิ่งแวดล้อม วอนรัฐช่วยปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หนุนการรับรองมาตรฐาน เปิดทางส่งออก หวังช่วยเพิ่มมูลค่าขี้เลื่อยไม้ยางพารา
   นายธานินทร์ การภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียว เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวล หรือวู้ด เพลเลต (Wood Pellet) รายใหญ่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วู้ด เพลเลต ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในหลายประเทศของเอเชียทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน กำลังประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ และต้องผ่านมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) โดยต้องแสดงแหล่งที่มาของไม้ว่าเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ไม้ที่ได้มาจากการบุกรุกทำลายป่า หรือทำลายสิ่งแวดล้อม
   สำหรับในประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิต Wood Pellet เพื่อการส่งออกที่ดำเนินการอย่างจริงจังจำนวน 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดแพร่ และสุราษฎร์ธานี โดยมีการส่งออกในปี 2557 ประมาณ 6,000 ตัน ส่วนปี 2558 ไม่มีการส่งออกเลยทั้งๆ ที่ประเทศไทย มีวัตถุดิบจำนวนมาก ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซียส่งออกปริมาณมากกว่าไทย
   "บริษัทของเราผลิตและส่งออกมากถึง 90% ของการผลิตทั้งประเทศ ฉะนั้นคนไทยจึงไม่ค่อยรู้จัก Wood Pellet ซึ่งโรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะมีราคาถูก แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน กำลังเลิกใช้ถ่านหิน และหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทน เพราะถ่านหินทำให้โลกร้อน ผลผลิตจากโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จึงมีข้อจำกัดในการขาย หรือส่งออกไปยังยุโรป"
   นายธานินทร์กล่าวอีกว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่นที่หมดอายุการใช้งานแล้วจะปิดไปเลย และหันมาสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้วู้ด เพลเลต เป็นเชื้อเพลิง 100% โดยญี่ปุ่นมีความต้องการใช้วู้ด เพลเลต ปีละ 4-5 แสนตัน แต่ไม่มีวัตถุดิบ จึงต้องซื้อวัตถุดิบจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม
   ปัจจุบันตลาดใหญ่ที่สุด คือ ญี่ปุ่น แต่บริษัทส่งออกไม่ได้ เนื่องจากมาตรฐานของญี่ปุ่นกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากไม้ ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน FSC แสดงแหล่งที่มาของไม้ว่าเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มาจากการบุกรุกทำลายป่า หรือทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะได้มาตรฐาน FSC ของไทยจะต้องดำเนินการโดยอาศัยหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ และองค์การสวนยาง ในปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือที่จะไปสู่การรับมาตรฐาน FSC อย่างเต็มที่
   "เมื่อ 2 ปีก่อน โรงงานของเราเซ็นสัญญาขายไว้กับเครือเอสซีจี และเกาหลีใต้รับซื้อตันละ 4,000 บาท หากเดินเครื่องผลิตไม่ถึง 1 ปีก็จะคืนทุน แต่กว่าจะสร้างโรงงานเสร็จ ราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกมีปัญหา น้ำมันเตาที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงงานไฟฟ้าในขณะนั้นลดลงกว่า 50% ปี 2556 น้ำมันเตาลิตรละ 18-19 บาท ปัจจุบัน 8 บาท ทำให้ราคา Wood Pellet ลดลงด้วยตามราคาน้ำมัน ปัจจุบันเหลือเพียง 2,000 กว่าบาท กำไรของเราจึงหายไปทั้งหมด"
   ทั้งนี้บริษัท เพียว เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป ก่อสร้างโรงงานมา 4 ปีแล้ว ใช้เงินลงทุน 80 ล้านบาท กำลังการผลิตสูงสุด 10,000 ตัน/เดือน แต่ปัจจุบันติดตั้งเครื่องจักร และเดินเครื่องผลิตเพียง 1 เครื่อง กำลังการผลิต 2,500 ตัน/เดือน ใช้วัตถุดิบจากไม้ยาง 3 ประเภท คือ ขี้เลื่อย ชิพไม้ และไม้ท่อน ถือว่าเป็นโรงงานไม่มีมลพิษ เพราะกระบวนการผลิตเป็นระบบปิด จึงไม่มีปล่อยควัน และไม่ใช้น้ำ จึงไม่มีน้ำเสีย
   ขณะที่สถานการณ์ของผู้ประกอบการ วู้ดเพลเลตที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 30 แห่งนั้น ในปัจจุบันส่วนใหญ่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ โรงงานบางแห่งปิดกิจการและประกาศขายเครื่องจักร หลายแห่งต้องย้ายโรงงานมาตั้งในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ใกล้วัตถุดิบ ส่วนเพียว เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ปยังอยู่ได้ เพราะใช้ทุนของตัวเองส่วนหนึ่ง ไม่ได้กู้เงินมาทั้งหมด แต่หากเงินทุนหมดก็ต้องหยุดกิจการ
   นอกจากเรื่องการตลาดที่มีอุปสรรคแล้ว ผู้ประกอบการยังมีปัญหาเงินลงทุน เพราะต้องนำเข้าเครื่องจักรราคาแพงจากต่างประเทศ สิ่งที่ต้องการคือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% และขายออกนอกประเทศ นำเงินเข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท

  (ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 13 กันยายน 2559)


















13/09/2016