รัฐมนตรีเศรษฐกิจ 16 ชาติ หวังเร่งสรุปผลความตกลง RCEP โดยเร็ว


   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์)ได้ร่วมประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic PartnershipMinisterial Meeting) ครั้งที่ 4 ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 48 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559
   นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP ครั้งที่ 4   ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดียออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 48 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวว่า ที่ประชุมได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าของการเจรจา RCEP ซึ่งจะมุ่งไปสู่การเปิดเสรีอย่างรอบด้าน และได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ที่จะสรุปสาระสำคัญของความตกลง RCEP ภายในสิ้นปี 2559 โดยมุ่งหมายให้เป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูง ครอบคลุมการเปิดเสรีอย่างมีนัยสำคัญทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะเจรจาของประเทศสมาชิกพยายามเจรจาด้วยความยืดหยุ่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจสำหรับทุกฝ่าย ภายในการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-19 สิงหาคมนี้
   ทั้งนี้ RCEP ไม่ใช่สัญญาการค้าเสรีฉบับแรกที่ประเทศเหล่านี้จัดทำระหว่างกัน แต่ RCEP เกิดขึ้นในขณะที่อาเซียนได้มีความตกลงเปิดเสรีการค้าแบบแยกฉบับกับประเทศจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งให้สิทธิประโยชน์และกฎกติกาที่แตกต่างกันทำให้ยุ่งยากต่อผู้ประกอบการ ในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีโดยเฉพาะ SMEs ดังนั้น RCEP จะช่วยปรับประสานกฎกติกาให้สอดคล้องกันทำให้เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้นและสะดวกมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจรจาเปิดเสรีในสินค้าที่ไทยยังถูกประเทศสมาชิกกีดกันด้วยภาษีนำเข้า อาทิ น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และ ปิโตรเคมี
   นางอภิรดี กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างสูง และกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้ซื้อรายสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ การเจรจาเปิดตลาดการค้าภายใต้ RCEP จะมีนัยสำคัญต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยอย่างมากเพราะ RCEP เป็นตลาดขนาดใหญ่เนื่องด้วยเป็นภูมิภาคที่มี GDP รวมกันกว่า 22.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของ GDP โลก และรองรับการส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 55 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รวมทั้งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นจากการที่มีจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
    ในปี 2558 ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP รวม 2.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 57 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทยโดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังภูมิภาค RCEP เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

(ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2559)


















09/08/2016