Sarawak เสนอจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยาง


    นาย Douglas Uggah Embas รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกของมาเลเซียแนะนำว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยางในรัฐ Sarawak เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากยางมีบทบาทสำคัญทั้งขณะนี้และในอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทของรัฐ โดยเป็นการสนับสนุนการส่งออก การจ้างงาน และสร้างรายได้สำหรับผู้ปลูกยางรายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท 
    นาย Uggah กล่าวปราศรัยในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า “ขณะนี้พื้นที่ปลูกยางรายย่อยได้กระจายอยู่ทั่วรัฐ Sarawak เป็นเนื้อที่ 175,000 เฮกตาร์ โดยแต่ละแปลงปลูกมีขนาดเนื้อที่ตั้งแต่ 1 – 10 เฮกตาร์ ซึ่งยางที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยนั้นร้อยละ 70 เป็นยางก้อนถ้วย และอีกร้อยละ 30 เป็นยางแห้งหรือยางแผ่นรมควัน โดยโรงงานผลิตยางมาตรฐานมาเลเซีย (SMR) ในรัฐ Sarawak มีจำนวน 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Kuching จำนวน 3 แห่ง และอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเมือง Betong แต่อย่างไรก็ตาม ภายในรัฐ Sarawak ไม่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ยางปลายน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่ายางให้สูงขึ้น และยางมาตรฐาน SMR ก็เป็นยางเพื่อส่งออกในรูปแบบของวัตถุดิบ ในแง่ของผลผลิตที่ได้รัฐ Sarawak สามารถผลิตยางได้ 800 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในประเทศที่สามารถผลิตได้ 1,200 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์” 
    ดังนั้น อุตสาหกรรมยางในรัฐ Sarawak เป็นพื้นที่เพาะปลูกยางที่สามารถผลิตยางดิบป้อนตลาดได้น้อยมาก ซึ่งถ้าหากมีการสร้างอุตสาหกรรมปลายน้ำที่นี่ก็จะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก และจากการเรียนรู้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในมาเลเซียฝั่งตะวันตก นาย Uggah กล่าวว่า อุตสาหกรรมยังมีศักยภาพอยู่มากหากได้รับการพัฒนาในลักษณะของการบูรณาการให้มากขึ้น
    “ควรมีการพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางทั้งหมดครอบคลุมทุกด้าน นับตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตยางไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ แต่การผลิตผลิตภัณฑ์ยางและอุตสาหกรรมไม้ยางพารานั้นให้ผลกำไรที่ดีกว่า”
    นาย Uggah ยังได้แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการตั้งแผนกบริการสัตวแพทย์ประจำรัฐ (State Department of Veterinary Services) โดยให้เป็นหน่วยงานพัฒนาด้านอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งการจัดตั้งหน่วยงานนี้จะทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะที่สามารถบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาสุขาภิบาลสัตว์ (Veterinary Public health Ordinance) ปี 2542 ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

    (ที่มา: http://globalrubbermarkets.com, 16/06/2016)


















20/06/2016