สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส แปรรูปยางเป็น 'กระเบื้อง'


 จากปัญหายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี พลิกวิกฤติเป็นโอกาส คิดผลิตกระเบื้องมุงหลังคายางพารา ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ เบา ความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อแรงกระแทก และกันความร้อนได้ดี
   นายจักรินทร์ พรหมทองนาค และนายณัฐภาส รุ่นประแสง 2 นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียาง หลักสูตรต่อเนื่อง ระบบทวิภาค ชั้นปี 3 ปริญญาตรี วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คิดค้นผลงานวิจัยทำกระเบื้องมุงหลังคาด้วยยางพารา โดยใช้เวลาวิจัยและผลิตจนเป็นผลงาน 6 เดือนเต็ม จึงสำเร็จได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
   โดยทั้งสองคนบอกว่าด้วยครอบครัวทำสวนยางพารา เห็นวิถีการกรีดยาง ทำยางแผ่นแล้วนำไปขาย ตอนนั้นได้แต่ถามตัวเองว่าเอายางไปทำอะไร พอโตขึ้นก็มองว่ายางจะต้องมีกระบวนการผลิตที่ดีกว่านี้ บวกกับช่วงนี้ราคาตกต่ำ จึงคิดหาแนวทางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยนำแนวคิดผลิตกระเบื้องมุงหลังคายางพารานำเสนออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอทำวิจัยโดยทำกระเบื้องแบบซีแพค ซึ่งตอนนี้อยู่ที่กระบวนการทำเพื่อเป็นหลังคาบ้านตัวอย่าง
   คุณสมบัติเด่นของกระเบื้องที่ทำจากยางพาราคือมีความยืดหยุ่นสูง เบาทนต่อแรงกระแทกและกันความร้อนได้ดี ส่วนที่หลายคนเป็นห่วงคือเรื่องของไฟไหม้นั้น ได้ใช้สารเคมีผสมกันความร้อนที่ได้ผลและเชื่อว่ากันไฟได้อย่างแน่นอนหากความร้อนที่ไม่สูงจนเกินไป
    “ต้นทุนผลิตหากเปรียบเทียบกับกระเบื้องมุงหลังคาทั่วไปที่อยู่ในเกรดดี ราคาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยหลังคายางพาราจะสูงกว่า 15-20 บาทเท่านั้น แต่มีความทนทานกว่าแน่นอน ที่สำคัญใช้ยางพาราธรรมชาติ 100% เป็นการเพิ่มมูลค่ายางได้ดีด้วย” จักรินทร์ แจง
ส่วนวิธีการจะใช้ยางพารารมควันชั้น 3 เป็นวัตถุดิบในอัตราส่วนผสมร้อยละ 50-70 ที่เหลือผสมกับสารลดต้นทุนในอุณหภูมิที่ 150 องศาเซลเซียส แต่การที่จะใช้ส่วนผสมของยางมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพที่ต้องการ หากต้องการให้คุณภาพสูงต้องใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น
    ด้าน น.ส.สายฝน แก้วสม หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยียาง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นักศึกษาสาขานี้จะต้องคิดทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมยางธรรมชาติขึ้นมาเองและนำมาปรึกษา ซึ่ง 2 คนนี้มีความคิดทำกระเบื้องมุงหลังคายางพาราด้วยความสนใจจึงได้สนับสนุน
   “เท่าที่ทดสอบเรามั่นใจว่าคุณภาพดีกว่ากระเบื้องทั่วไป ทนทานต่อแรงกระแทก หากปลิวหรือตกก็ไม่แตก น้ำหนักเบา อายุใช้งานนาน ที่สำคัญยางพาราเป็นวัสดุสกัดความร้อนได้ดี ฉะนั้นกระเบื้องจากยางพาราเวลามุงหลังคาแล้วจะไม่ร้อน เพราะมีฉนวนกันความร้อน ส่วนราคาขึ้นอยู่กับราคายางพารา ปัจจุบันกระเบื้องนี้ต้นทุนจะอยู่ที่แผ่นละ 67-68 บาท” น.ส.สายฝน กล่าว
  พร้อมระบุว่าด้วยวิทยาลัยมีแผนกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ในระดับปริญญาตรี จึงช่วยกันคิดเพื่อหาแนวทางแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตายาง รองเท้า ท่อน้ำ บล็อกแม่พิมพ์ เป็นต้น ตอนหลังมาแปรรูปทำเป็นกระเบื้องมุงหลังคามี 2 แบบ ขนาดมาตรฐานทั่วไป และกระเบื้องซีแพคโมเนีย ซึ่งภาคเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปต่อยอดเพื่อเป็นสินค้า และนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้
   “ตอนนี้ยังเป็นในลักษณะการเรียนการสอน หากเอกชนหรือหน่วยงานใด ชุมชน รัฐวิสาหกิจใดสนใจที่จะนำไปต่อยอด วิทยาลัยยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้“ น.ส.สายฝน กล่าว

  (ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2559)


















13/05/2016