มูลค่าตลาดยางล้อเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9


    บริษัท Bao Viet Securities ของเวียดนามรายงานว่า มูลค่าโดยประมาณของตลาดยางล้อในเวียดนามอยู่ที่ 852 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 6.9 ในช่วงปี 2556-2561
    นโยบายการลดพิกัดศุลกากรนำเข้ารถยนต์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2561 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เชื่อว่าจะทำให้มีปริมาณความต้องการรถยนต์สูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีการจำหน่ายรถยนต์ได้ถึง 2.2 ล้านคันภายในปี 2561 ขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ก็ยังคงเป็นวิธีการเดินทางหลักของคนเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของการคมนาคมทั้งหมด โดยคาดว่าจะมีการใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคันในทุกๆ ปี 
    จากข้อมูลของสมาคมยาง-พลาสติกแห่งเมืองโฮจิมินห์ (HCMC Rubber- Plastic Association) ระบุว่า ผู้ผลิตยางล้อของเวียดนามยังคงครองตลาดยางล้อสำหรับรถจักรยานยนต์และรถจักรยานรวมถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ (ยางล้อชนิดใช้ชั้นผ้าใบเฉียง) และยานพาหนะพิเศษ (ยางล้อสำหรับใช้นอกถนน)
    เมื่อปี 2558 ผู้ผลิตยางล้อได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมากจากการที่ราคายางธรรมชาติตกต่ำ (ซึ่งราคายางคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 57 ของราคาวัตถุดิบทั้งหมด ประกอบด้วยยางพาราร้อยละ 34 และยางสังเคราะห์ร้อยละ 23) อีกทั้งยังมียอดจำหน่ายรถยนต์สูงถึง 245,000 คัน
    บริษัท Da Nang Rubber (DRC) ครองตลาดยางล้อในแถบภาคกลาง ในขณะที่บริษัท Southern Rubber Industry JSC (CSM) ครองตลาดในแถบภาคใต้ ส่วนบริษัท Sao Vang Rubber JSC (SRC) ครองตลาดในแถบภาคเหนือ โดยมีบริษัท Vinachem เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (สัดส่วนร้อยละ 50-51) ของทั้ง 3 บริษัท
    ขณะเดียวกัน ตลาดยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลครองตลาดโดยผู้ผลิตจากต่างชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตยางเรเดียลนั้นยังไม่ใช่จุดแข็งของบริษัทผู้ผลิตยางล้อภายในประเทศทั้ง 3 บริษัท (DRC, CSM และ SRC) โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า “นี่คือสนามแข่งขันของกลุ่มธุรกิจต่างชาติหรือจากการนำเข้าจากประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีนผ่านทางการค้าชายแดน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 80”
    ทาง CSM เข้าใจถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางเรเดียลในตลาดโลก (ยางประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานในทุกสภาพถนน โดยเฉพาะบนทางหลวง) โดยในปี 2557 นั้น CSM ได้ทำการผลิตยางเรเดียล ซึ่งในระยะแรกโรงงานสามารถผลิตได้ 1 ล้านเส้นต่อปี และก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2556 บริษัท DRC ก็ได้ทำการผลิตยางเรเดียลที่กำลังการผลิต 600,000 ต่อปีในโรงงานที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม Lien Chien
    แต่อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตยางล้อของโรงงานที่ผู้ประกอบการเป็นชาวเวียดนามยังคงมีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับโรงงานที่ตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติ เช่นเมื่อปี 2557 บริษัท Japanese Bridgestone ได้เปิดโรงงานผลิตยางเรเดียลที่มีกำลังการผลิต 24,700 เส้นต่อวัน และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 49,000 เส้นต่อวันภายในปี 2560

    (ที่มา: http://rubberjournalasia.com, 09/05/2016) 


















13/05/2016